วิเคราะห์และเชื่อมโยงการมีอยู่ของชุมชนม้งเข็กน้อย

วิเคราะห์และเชื่อมโยงการมีอยู่ของชุมชนม้งเข็กน้อย

ชาวม้งเข็กน้อย เป็นกลุ่มประชากรที่เข้ามาบุกเบิกที่อยู่อาศัยและที่ทำกินในบริเวณพื้นที่รอยต่อสามจังหวัดเพชรบูรณ์ พิษณุโลก และเลย ตั้งแต่ประมาณ ปี พ.ศ. 2465 โดยเปรียบเทียบจากเหตุการณ์และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สองหรือสงครามญี่ปุ่น สงครามอินโดจีน การปลูกฝิ่นในประเทศไทย การต่อสู้ด้วยกำลังระหว่างรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จนสิ้นสุดสงครามการต่อสู้ด้วยอาวุธถึงปัจจุบัน ประกอบกับการเกิดขึ้นและเข้ามาของหน่วยงานภาครัฐ เช่น โรงเรียนประชาบาล14 ตำรวจตระเวรชายแดน ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา กองทัพภาคที่ 3 ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ครั้งอดีตล้วนยืนยันว่าในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวมีประชากรชาวม้งอาศัยอยู่ก่อน
แล้วเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบว่าการปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวม้งในพื้นที่ด้วยกันเองและกับชาวไทยพื้นราบล้วนผ่านระบบและกลไกของหน่วยงานภาครัฐเป็นสำคัญ มีการแต่งตั้งผู้นำหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน มีการเก็บเกี่ยวภาษีฝิ่น และภาษีอื่นๆ โดยปรากฏจากหลักฐานเอกสารการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้าน บัตรประจำตัวประชาชน เอกสารการศึกษา เป็นต้นนอกจากนี้ยังมีองค์การศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก(คริสตัง) และโปรเตสแตนท์(คริสเตียน) เข้ามาเผยแพร่และส่งเสริมการนับถือศาสนาในหมู่บ้านชาวม้งตั้งแต่อดีตและมีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่กลุ่มชาวม้งที่ออกมาอยู่กับฝ่ายรัฐบาลในวันเสียงปืนแตกก่อนที่จะไปอยู่ในความดูแลของทางราชการแม้ว่าชาวม้งในพื้นที่จะมีการเคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งตลอดเวลาในระหว่างที่อยู่ในพื้นที่ แต่ก็เป็นการเคลื่อนย้ายที่มีหมู่บ้านและชุมชนรองรับ ไม่ได้เคลื่อนย้ายออกไปยังที่อื่น และมีการจับจองและเข้าแสดงการครอบครองที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองอย่างชัดแจ้ง การครอบครองที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยมิได้หมายความแต่เพียงว่า
ต้องมีการถาดถางต้นไม้หรือตัดไม้ทำลายป่าให้มีพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกทุกตารางนิ้ว แต่การอาศัยอยู่ในป่ายังคงต้องพึ่งพาระบบนิเวศน์ในป่า ดังนั้นการไม่ตัดไม้หรือแผ้วถางให้หมดจึงมิได้หมายความว่าไม่ใช่ที่ซึ่งพวกเขาอยู่อาศัยหรือทำกินในทางตรงข้ามยิ่งแสดงให้เห็นถึงการหวงแหนและการผูกพันต่อทรัพยากรธรรมชาติที่ตนเองต้องใช้ชีวิตอยู่ กรณียังคงเด่นชัดเมื่อมีการต่อสู้ด้วยอาวุธระหว่างรัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่มวลชนของพรรคคอมมิวนิสต์ตรึงพื้นที่อยู่ในป่าแต่ก็มิได้ตัดไม้ทำลายป่าแต่กลับใช้ป่าเป็นที่กำบังทำให้สามารถคงไว้ซึ่งทรัพยากรป่าไม้เป็นจำนวนมากใน
ขณะนั้น การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่เตียนโล่งให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วยเหตุผลความมั่นคง (ปลอดภัยจากการซุ่มโจมตีของ ผกค.) การสัมปทานป่าไม้และการเพิ่มพื้นที่การปลูกพืชเศรษฐกิจ ก็ล้วนมาจากนโยบายของรัฐทั้งสิ้น ชาวม้งในพื้นที่เพียงแต่เคลื่อนไหลไปกับปัจจัยที่รัฐเป็นผู้กำหนด ในขณะที่รัฐต้องการควบคุมและกลมกลืนกลุ่มประชากรนี้โดยใช้กลไกเครื่องมือทางกฎหมาย เช่น การออกมติคณะรัฐมนตรี การกำหนดนโยบายพัฒนาชาวเขา การกำหนดเขตแดนให้อยู่อาศัยและทำกิน การปราบปรามยาเสพติด และการจำกัดสิทธิของชาวเขา ก็ล้วนแล้วแต่กระทำอย่างคู่ขนานไปกับการมี
อยู่และพัฒนาการของพวกเขาอย่างที่รัฐไม่เคยคำนึงถึงปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดแก่ประชากรกลุ่มนี้ในระยะยาวอย่างเช่นปัจจุบัน ทำให้ปัญหาต่างๆ ไม่สามารถแก้ไขได้อย่างที่ควรจะเป็น
การเข้ามาของเจ้าหน้าที่รัฐในแต่ละยุคสมัยก็ขาดการส่งต่อ และขาดแผนที่ดีสำหรับหน่วยงานรัฐด้วยกันเองเจ้าหน้าที่ผู้มาใหม่จึงขาดความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและไม่สามารถเชื่อมต่อสถานการณ์ต่างๆ ในพื้นที่ แต่กลับยึดเอานโยบายจากส่วนกลาง ระเบียบและข้อกฎหมายเป็นหลัก ทำให้สัมพันธภาพกับชุมชนในพื้นที่ไม่ค่อยราบรื่นและกลายเป็นความขัดแย้งไปในที่สุด จากบทเรียนที่กล่าวมาในตอนแรกก็เห็นแล้วว่าการเข้ามาของรัฐและการแทรกซึมของพรรคคอมมิวนิสต์ทำให้ชุมชนและหมู่บ้านม้งทั้งหมดต้องแตกสลายไปในปี พ.ศ. 2511เมื่อก่อตั้งบ้านเข็กน้อยได้อีกครั้ง และทุกคนกลับมาอยู่รวมกันที่เข็กน้อยอีกครั้งหนึ่ง จนเป็นชุมชนม้งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ชาวม้งตำบลเข็กน้อยจึงไม่ต้องการซ้ำรอยเดิม แต่ต้องการรักษาชุมชนม้งแห่งนี้ไว้มิให้ต้องแตกสลายไป ดังนั้น การมีตัวตนอยู่ของพวกเขาตั้งแต่บรรพบุรุษ และประสบการณ์ของพวกเขาจึงเป็นความชอบธรรมอย่างหนึ่งในการไม่เห็นด้วยและจำเป็นต้องคัดค้านต่อปัจจัยภายนอกที่อาจเข้ามาสร้างปัญหาต่อพวกเขาเหมือนอย่างในอดีตอีกจากเหตุการณ์ ปัจจัยต่างๆ และความรู้สึกผูกพันเหล่านี้จึงเป็นเสมือนเครื่องยืนยันว่าชาวม้งเข็กน้อยที่นี่ทุกคนเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมในพื้นที่รอยต่อสามจังหวัด เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และเลย พวกเขาชอบที่จะอยู่และทำกินบนที่ดินซึ่งพรรพบุรุษของพวกเขาได้เข้ามาบุกเบิกตั้งแต่แรก อย่างน้อยที่สุดพวกเขาก็มีสิทธิในการปกป้องรักษาและแสดงความไม่เห็นด้วยตลอดจนการคัดค้านโครงการ หรือปัจจัยต่างๆ จากภายนอกที่อาจเป็นปัญหาและส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเขาทั้งปัจจุบันและในอนาคต อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มีการรับรองไว้ในหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550โดยสรุปก็คือ ชาวม้งที่นี่เข้ามาบุกเบิกจับจองเพื่ออยู่อาศัยและทำกินตั้งแต่ประมาณ ปี พ.ศ. 2465 เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 8,000 คน จนถึงปี พ.ศ. 2511 ชุมชนม้งในพื้นที่แยกเป็นสองกลุ่มใหญ่เมื่อเกิดการสู้รบระหว่างรัฐบาลและคอมมิวนิสต์ กลุ่มแรกเข้าร่วมคอมมิวนิสต์อยู่ในพื้นที่ไม่ได้ย้ายไปที่อื่น ส่วนกลุ่มที่สองเข้าร่วมกับรัฐบาล กลับมาอยู่ในพื้นที่ ณ บ้านเข็กน้อย ในปี พ.ศ. 2513 ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 กลุ่มที่เข้าร่วมคอมมิวนิสต์ได้มาอยู่ร่วมเมื่อสิ้นสุดการสู้รบ
ระหว่างรัฐบาลและคอมมิวนิสต์จนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งในระหว่างนี้รัฐเพิ่งเข้ามาเกี่ยวข้องโดยเริ่มจากปี พ.ศ. 2502, 2509โดยมีมติ ครม. กันพื้นที่เพื่อจัดตั้งนิคมสงเคราะห์ชาวเขา จำนวน 212,500 ไร่ ประกาศพื้นที่เป็นอุทธยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงทับที่ของชาวบ้าน ในปี พ.ศ. 2506 กองทัพภาคที่ 3 ขอใช้พื้นที่เพื่อความมั่นคงจำนวน 20,000 ไร่ในปี พ.ศ. 2515มีกฎหมายที่ราชพัสดุในปี พ.ศ. 2518 และในปี พ.ศ. 2545 ครม. ก็ได้มีมติให้คืนที่ดินนิคมฯ บางส่วนแก่กรมป่าไม้อันเป็นการเข้ามาภายหลังการมีอยู่ก่อนแล้วของชุมชนม้งในเขตรอยต่อสามจังหวัด เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น